จากวันนั้นถึงวันนี้ 10 ปีมาแล้ว เห็นได้ชัดว่าจำนวนประชากรของผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 6.3% การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ และคาดการณ์ว่าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 เป็นผลมาจากการลดลงของอัตราการเกิดโดยเฉลี่ย และในทางหนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโดยรวมของสภาพสังคม เช่น สังคมไทยในยุคก่อนอยู่ร่วมบ้านเดียวกันต่อเนื่องจนได้ชื่อว่าเป็นครอบครัวขยาย ผู้เฒ่าผู้แก่ใช้ชีวิตอยู่ในชายคาบ้านเดียวกัน และได้รับการดูแลจากบรรดาลูกๆ หลานๆ สำหรับในปัจจุบันเมื่อสมดุลระหว่างวัยเปลี่ยนแปลงไป หลายครอบครัวแยกออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น หรือแม้กระทั่งผู้สูงวัยในยุคปัจจุบันเตรียมพร้อมที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งพาลูกหลานมากขึ้น
สำหรับทางออกของปัญหาผู้สูงอายุในอนาคต ชุมชนจะต้องมีความเข้มแข็ง มีความคิดริเริ่มนำนวัตกรรมมาใช้ให้สามารถดูแลผู้สูงอายุทั้งหมดได้ และจะต้องพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มีความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล (Digital literacy) คือการมีทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสื่อออนไลน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการสื่อสาร การทำงาน และการอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมที่มีเครือข่ายคล้ายสมอง มีชีวิตและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นสังคมอุดมปัญญา ที่สำคัญคือต้องก้าวไปด้วยกันด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ที่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
สังคมไทยเป็นสังคมดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่เสนอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 4.2 ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตหรือโซเชี่ยลมีเดีย ผู้สูงอายุไทยในอนาคตจึงต้องรู้เท่าทัน ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ต โซเชี่ยลมีเดีย และสมาร์ตโฟน รับรู้ข้อมูลข่าวสาร โปรแกรมการดูแลสุขภาพต่างๆ ทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ตกเป็นผู้เสียหาย โดนหลอกจากข่าวสารปลอม ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิ การฉ้อโกงทรัพย์สิน โดยการเสวนาครั้งนี้นำเสนอตัวอย่างการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจ้างงานผู้สูงอายุ การรู้เท่าทันสื่อยุคใหม่ การเสริมสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุผ่านการรวมกลุ่มหรือกิจกรรมที่เหมาะสม
ที่มา : http://www.jinwellbeing.com และ http://www.thaihealth.or.th/
Views: 2,002