ทฤษฎีจิตวิทยา: ทำไมบางคนถึงโง่แล้วอวดฉลาด? (The Dunning-Kruger Effect)

คุณเคยสงสัยหรือไม่ครับว่าทำไมคนบางคนที่ไร้ซึ่งความสามารถ กลับไม่ค่อยจะรู้ตัวถึงความไร้สามารถของตัวเองเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่บางท่านในบ้านเมืองเรา ที่มักจะใช้เหตุผลวิบัติที่ทำให้ประชาชนในสังคมต้องตกตะลึงและพูดแบบมั่นใจ ไม่อายสื่อ แถหน้าตายไม่อายใคร ประดุจดั่งว่าไม่มีใครรู้ความจริงที่ท่านพูดหรอก

หลายคนที่คิดว่าตัวเองเก่งทุกๆ ด้านในความเป็นจริงเเล้วกลับทำไม่ได้เรื่องเอาสักอย่างเลย นั้นก็คือปรากฎการของ “Dunning Kruger effect” ซึ่งได้นิยามว่า การที่คนที่ยิ่งไร้ความสามารถเท่าไหร่จะยิ่งเต็มไปด้วยความมั่นใจ และถ้าเป็นคนที่มีความสามารถที่แท้จริงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสงสัยในความสามารถของตัวเองมากเท่านั้น เลยทำให้โลกนี้ยุ่งเหยิงไปหมด ลองคิดดูสิครับคนโง่คิดว่าตัวเองฉลาด แต่คนฉลาดคิดว่าตัวเองโง่ กรณีดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาชนิดหนึ่งซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกคน กล่าวคือตอนรู้น้อยจะคิดว่าตนเองฉลาด (เพราะไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร) แต่พอได้รู้มากขึ้นๆ กลับมีความคิดว่าตนเองโง่ (เพราะไปรับรู้ความจริงมาว่าที่แท้ตัวเราแทบไม่ได้รู้อะไรเลย ในสิ่งที่รู้เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของความรู้ทั้งหมดเลย)

ปรากฎการของ “Dunning Kruger effect” ได้ถูกนำมาใช้ในปี ค.ศ. 1999 นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันสองคนชื่อ เดวิด ดันนิง (David Dunning) เเละ จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell) รายงานในวารสารทางจิตวิทยาว่า เขาให้นักศึกษาทำข้อสอบวัดความสามารถในการคิดเชิงตรรกะ หรือความรู้เรื่องไวยากรณ์ และให้ประเมินว่า หากมีอันดับเรียงจาก 1 ถึง 100 ตนเองน่าจะได้คะแนนอยู่ในอันดับที่เท่าใดเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ผลปรากฏว่า ไม่มีใครคิดว่าตัวเองอยู่ในอันดับต่ำกว่า 50 เลยสักคนเดียว นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Above Average Effect คือ ทุกคนมักจะมองเห็นตัวเองในแง่บวก

ดังนั้นไม่ว่าความจริงบุคคลนั้นจะเป็นคนที่มีความสามารถมากน้อยเพียงใด เขาก็มักจะเชื่อว่า อย่างน้อยตัวเองก็ยังดีกว่าค่าเฉลี่ย หรือดีกว่าคนส่วนใหญ่ (มากกว่า 50%) ตามที่หลายคนชอบพูดว่า “อย่างน้อยฉันก็ไม่แย่ที่สุด” นั่นแหละ

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งที่เขาค้นพบก็คือ คนที่สอบได้คะแนนสูงสุด 25 อันดับแรก ประเมินว่าตัวเองน่าจะอยู่ในอันดับต่ำกว่าที่ตัวเองได้ ส่วนคนที่ทำคะแนนสอบได้ต่ำสุด 25 อันดับสุดท้าย กลับประเมินตัวเองว่าน่าจะได้อันดับสูงเกินจริงมากที่สุด! ผลสรุปของงานวิจัยนี้จึงออกมาให้เห็นดังกราฟนั่นแล “Incompetent individuals tend to overestimate their own level of skill.”

ทั้งนี้ Dunning และ Kruger อธิบายว่า การประเมินความสามารถของตนเองในเรื่องอะไรสักเรื่อง เราต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นในระดับหนึ่งจึงจะบอกได้ว่าตัวเราเป็นคนที่รู้จริงหรือไม่รู้ นอกจากจะมีความรู้ในเรื่องนั้นน้อยแล้ว ยังขาดความสามารถที่จะประเมินด้วย ในทางกลับกันคนที่รู้มากหรือเชี่ยวชาญมากในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะรู้ว่าขอบเขตของความรู้เรื่องนั้นดีที่สุด และสามารถประเมินทักษะและความสามารถของตนเองได้เป็นอย่างดี ถ้าหากอยากศึกษาศาสตร์ใดต้องรู้ลึกถึงขั้นเป็นผู้เชีี่ยวชาญถึงจะสามารถประเมินความสามารถของตนเอง

บทเรียนสำคัญของ Dunning-Kruger Effect ก็คือ “little knowledge can be dangerous” (การมีหลักฐานข้อมูลความรู้ที่น้อยเป็นภัยมากกว่าเป็นประโยชน์) ทั้งนี้ก็เพราะว่าคนที่มีความรู้น้อยไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามมักจะถูกข้อมูลที่มีความจำกัดของเขาชักจูงให้เขาผูกขาดในเรื่องผิดๆ ที่เขาเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น นักวิชาการหลายๆ คนที่ไม่เคยทำการวิจัยอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องที่เขาถูกเชิญมาให้คอมเมนต์มักจะมีความรู้สึกมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง (ถึงเเม้ว่าจริงๆ เเล้วอาจจะผิด) มากเสียจนเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม Dunning และ Kruger ยังพบด้วยอีกว่า ถ้าคนที่ไม่มีความสามารถพอได้มีโอกาสเรียนรู้เเละเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องที่ตอนเเรกเขามีความรู้จำกัด พวกเขาก็สามารถที่จะปรับค่าประเมินความสามารถของตนเองได้ไห้เท่าๆ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง กับความสามารถจริงๆ ของเขา ดังนั้น เรามาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจนถึงระดับที่เราสามารถประเมินความสามารถที่แท้จริงของเราได้เถอะครับ

“ถ้าคุณทะเลาะกับคนโง่คุณจะไม่มีวันชนะ เพราะคนโง่จะใช้เหตุผลโง่ๆ มาเป็นเหตุผลให้ตัวเองรู้สึกว่าเขาชนะคุณ” ดังนั้นเราควรจะยืนดูอย่างชาญฉลาด และให้ความเห็นใจในตัวพวกเขา เมื่อคุณเข้าใจแล้วความหงุดหงิดของคุณก็จะมลายหายไป

Cookie Consent with Real Cookie Banner Skip to content