จากกรณีที่ปรากฎคลิปวิดีโอของรุ่นพี่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 รุมทำร้ายเด็กชั้น ป.4 ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ จนกลายเป็นประเด็นบนสื่อโซเชียล ที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงในโรงเรียนของไทยนั้น
สำหรับประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (ดำรงตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ได้เคยเปิดเผยถึงสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนดังกล่าวว่า สำหรับในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยอย่างที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เข้าใจ เด็กที่รังแกกันมีตั้งแต่ระดับอนุบาล และที่น่าห่วงคือ ขณะนี้เด็กเข้าถึงสื่อโซเซียลง่าย พ่อแม่และครูมีเวลาให้เด็กน้อย เด็กเรียนรู้ความรุนแรงจากเกม สื่อต่างๆ และไปใช้กับเพื่อน
โดยจากการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 รองจากญี่ปุ่น โดยนักเรียนที่ถูกรังแกมักเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย
ขณะที่นักเรียนที่รังแกคนอื่น เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล อาชญากรได้ สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ด้านองค์การยูนิเซฟ ได้เปิดเผยรายงานผลสำรวจ Global School-based Student Health จากทั้งหมด122 ประเทศทั่วโลกพบว่า พบว่าเยาวชนทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 13-15 ปี กว่าครึ่ง ราว 51% หรือประมาณ 150 ล้านคน เคยมีประสบกับความรุนแรงในโรงเรียน หรือเคยถูกกลั่นแกล้งจากสังคมรอบข้าง
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ความรุนแรงในโรงเรียนนั้น นอกจากการกลั่นแกล้งกันจากนักเรียนด้วยกันแล้ว ยังรวมถึงการถูกทำร้ายร่างกายโดยคุณครูด้วย
โดยรายงานระบุว่าเยาวชนในโรงเรียนประมาณ 720 ล้านคนทั่วโลก ไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่จากกฎหมายต่อรูปแบบการลงโทษทางร่างกายที่โรงเรียน
Claudia Cappa ที่ปรึกษาอาวุโสด้านสถิติที่ยูนิเซฟ กล่าวว่า “โรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ ที่จะสามารถเรียนรู้ แต่สิ่งที่เราได้รับจากรายงานคือ เกินครึ่งหนึ่งของนักเรียนวัยรุ่นทั่วโลกเคยเผชิญกับความรุนแรงในขณะที่อยู่ในโรงเรียนเป็นประจำ”
ที่มา : https://edition.cnn.com ,https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27485, https://www.posttoday.com/world/567280 (โพสต์ทูเดย์)