ประกาศคณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
เรื่อง รับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือก
เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
โดยที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนา ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายในการพัฒนาระบบสุขภาพ
เนื่องจากผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขคนปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนเมษายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขขึ้น เพื่อดำเนินการสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเสนอคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
อาศัยอำนาจตามข้อ ๙ แห่งข้อบังคับคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ว่าด้วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๖๐ คณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จึงได้กำหนดระยะเวลาการรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ระหว่างวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์-๕ มีนาคม ๒๕๖๑ โดยมีรายละเอียดการรับสมัครพร้อมทั้งใบสมัครตามที่แนบท้ายในประกาศนี้
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
(นายธเรศ กรัษนัยรวิวงค์)
ประธานอนุกรรมการคัดเลือกผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
รายละเอียดการรับสมัครเพื่อการคัดเลือกผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
________________
๑. ชื่อตำแหน่ง
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
๒. วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขอบเขตงาน ตัวชี้วัด ผลผลิต และการประเมินผลผู้อำนวยการ
๒.๑ วัตถุประสงค์
เพื่อบริหารจัดการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
๒.๒ เป้าหมาย
๒.๒.๑ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขต้องมีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการดังต่อไปนี้ ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท และแผนปฏิบัติการต่างๆ ของสถาบันให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
๒.๒.๒ บริหารและพัฒนาบุคลากรของสถาบันให้มีความสามารถ เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานได้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด
๒.๓ ขอบเขตของงาน
ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ของสถาบัน ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย และประกาศของคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และ เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง รวมทั้งให้มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
๒.๓.๑ จัดทำและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๑๑ และอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยกลไกและกระบวนการที่มีส่วนร่วมและวางอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์
๒.๓.๒ เสนอแผนปฏิบัติการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณต่อคณะกรรมการเพื่อให้การดำเนินงานของสถาบันบรรลุวัตถุประสงค์และแผนยุทธศาสตร์
๒.๓.๓ เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสถาบัน รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี ตลอดจนเสนอแผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเพื่อพิจารณา
๒.๓.๔ เสนอขอความเห็นชอบเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดำเนินงานของสถาบันให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อคณะกรรมการ
๒.๔ ตัวชี้วัด
๒.๔.๑ มีผลประเมินการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงานประจำปี โดยได้รับคะแนนการประเมินไม่ต่ำกว่าระดับ ๔ ทุกปี
๒.๔.๒ ดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และยุทธศาสตร์ของสถาบัน แผนปฏิบัติการ รวมทั้งแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
๒.๕ ผลผลิต
๒.๕.๑ ความรู้และข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถนำไปกำหนดนโยบายและดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน ครอบคลุมระบบบริการสุขภาพ ระบบการเงินการคลังของระบบสุขภาพในมุมมองที่สัมพันธ์กับระบบและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน
๒.๕.๒ ความรู้หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มากขึ้น เพื่อนำไปใช้พัฒนาต่อยอดการวิจัยในชั้นถัดไป หรือสนับสนุนกระบวนการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ
๒.๕.๓ ความรู้ หรือข้อเสนอใดๆ ที่นำไปใช้พัฒนาระบบสุขภาพ สามารถตอบสนองต่อปัญหาและความท้าทายได้ทันการณ์ มีคุณภาพ เป็นการวิจัยหรือสร้างความรู้แบบสหวิทยาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาความรู้
๒.๖ การประเมินผลการปฏิบัติงาน
คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตามที่คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกำหนด ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง และในปีแรกให้มีการประเมินผลทดลองการปฏิบัติงานเมื่อปฏิบัติงานครบ ๖ เดือน
๒.๗ กรอบวงเงินค่าตอบแทน
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วยความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี โดยอัตราเงินเดือนขั้นต่ำและขั้นสูงต่อเดือนเท่ากับ ๑๐๐,๐๐๐–๒๕๐,๐๐๐ บาท
๓. คุณสมบัติของผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
๓.๑ คุณสมบัติทั่วไป
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) สามารถทำงานให้แก่สถาบันได้เต็มเวลา
๓.๒ คุณสมบัติเฉพาะ ได้แก่
(๑) คุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโท หรือเทียบเท่าด้านการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ
(๒) มีประสบการณ์ด้านการแพทย์หรือสาธารณสุขไม่น้อยกว่าสิบปี
(๓) มีผลงานวิจัยหรือมีผลงานการบริหารงานด้านสาธารณสุขเป็นที่ประจักษ์
(๔) มีความรู้และประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารขององค์กรทั้งภาครัฐหรือเอกชนมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี โดยเป็นองค์กรที่มีงบประมาณในปีที่ผ่านๆ มาไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาท
๓.๓ ลักษณะต้องห้าม ได้แก่
(๑)ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต คนไร้ความสามารถหรือ คนเสมือนไร้ความสามารถ
(๒) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๓) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
(๔) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๕) ไม่เป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การมหาชนอื่น
(๖) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ปฏิบัติงานขององค์การมหาชนอื่น
(๗) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับสถาบัน หรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของสถาบัน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
๔. อำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (ตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕)
๔.๑ บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสถาบัน และตามนโยบาย ข้อบังคับ ระเบียบ และมติของคณะกรรมการ
๔.๒ บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสถาบันทุกตำแหน่ง
๔.๓ บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวิจัยพนักงานและลูกจ้างตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
๔.๔ วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบัน โดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับ ระเบียบหรือมติของคณะกรรมการ
๕. วาระการดำรงตำแหน่ง กรอบอัตราเงินเดือน และเงื่อนไขอื่นๆ
๕.๑ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๓ ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีก แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน ๒ วาระไม่ได้
๕.๒ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขจะได้รับเงินเดือนประจำไม่ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อเดือนและไม่เกิน ๒๕๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน
๕.๓ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขต้องทำสัญญากับประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยกำหนดอายุสัญญาไว้ ๓ ปี
๖. กระบวนการและวิธีการคัดเลือก
๖.๑ การสมัคร
• ผู้สนใจสามารถยื่นเอกสารสมัครได้ที่:-สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ชั้น ๔ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ถนนสาธารณสุข ๖ ภายในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐
• เปิดรับใบสมัครถึง วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เวลา ๑๖.๓๐ น.
(กรณียื่นทางไปรษณีย์ จะยึดถือวันที่ประทับตราไปรษณีย์)
• เอกสารประกอบการยื่นสมัคร ได้แก่
(๑) ใบสมัครพร้อมรูปถ่าย ขนาด ๒ นิ้ว (ไม่เกิน ๖ เดือน)
(๒) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการหรือบัตรพนักงานองค์การของรัฐ
(๓) สำเนาเอกสารแสดงวุฒิการศึกษาและความรู้หรือการฝึกอบรมที่สำคัญ
(๔) ประวัติ (curriculum vitae/resume) เพิ่มเติม (ถ้ามี)
(๕) เอกสารแสดงแนวคิดเกี่ยวกับวิสัยทัศน์และแผนการบริหารสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (ไม่เกิน ๑๐ หน้ากระดาษ A4 พิมพ์ด้วย Font Cordia ๑๖ )
หมายเหตุ ขอใบสมัครได้ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โทรศัพท์ ๐ ๒๘๓๒ ๙๒๓๓ หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.hsri.or.th/director
๖.๒ การพิจารณา
คณะอนุกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาเอกสารประกอบการยื่นสมัครและประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ ผู้สมัครอาจนำเสนอในรูปแบบเอกสาร ทางวาจา หรือ PowerPoint ทั้งนี้ ไม่เกินคนละ ๑๕ นาที
ภายหลังการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ คณะอนุกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมในรอบแรก (อาจมีมากกว่า ๑ คน) เสนอคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเพื่อพิจารณาคัดเลือกในรอบสุดท้ายต่อไป
คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข อาจขอให้ผู้ที่มีความเหมาะสมแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้าคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่งตามเวลาที่คณะกรรมการกำหนด (หากจำเป็น)
—————————————–
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.hsri.or.th/researcher/notice/job/detail/9424