ประเด็นการสื่อสารความรู้สุขภาพจิต โรงพยาบาลสวนปรุง “ชีวิตล้ำเลิศ…ถ้าเลิกสุรา (ลด ละ เลิกสุรา = ลดปัญหาสังคม)”

รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย ประจำปี 2558 โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา โดยใช้ข้อมูลในรอบ 3 ปี (พ.ศ.2554-2557) สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2557 พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2554 ประชากรอายุมากกว่า 15 ปี ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็นร้อยละ 31.5  หรือราว 17 ล้านคน  ในขณะที่ปี พ.ศ. 2557 สัดส่วนดังกล่าวเท่ากับร้อยละ 32.3  หรือราว 17.7 ล้านคน เท่ากับว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 7 แสนคน โดยประชากรหญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นนักดื่มสูงขึ้น จากร้อยละ 10.9 ในปี พ.ศ. 2554 มาเป็นร้อยละ 12.9 ในปี พ.ศ. 2557  และในการจำแนกกลุ่มอายุ  พบว่า ประชากรในทุกช่วงอายุมีสัดส่วนนักดื่มสูงขึ้น โดยกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี  มีสัดส่วนการดื่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.9 และ 14.3  ในปี พ.ศ. 2554 และ 2557 ตามลำดับ ซึ่งจะกลายมาเป็นนักดื่มในที่สุด

สาเหตุของการเริ่มดื่มและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะต้องการผ่อนคลายจากการทำงาน การเรียน  ตามเพื่อน  เท่ห์  ต้องการได้รับการยอมรับจากกลุ่ม หาซื้อง่าย ใกล้บ้าน ใกล้สถานศึกษา และเห็นจากการโฆษณาทั้งในสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์  

ผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีหลายด้าน ได้แก่ 

1. อุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่าง ๆ     

2. โรคทางกาย เช่น โรคตับแข็ง  มะเร็ง ฯล

3. ปัญหาทางสุขภาพจิตจากการดื่มสุรา ทำให้เกิดโรคจิตเวชที่เกิดจากการดื่มสุรา เช่น โรคซึมเศร้าจากการดื่มสุราเรื้อรัง หูแว่ว นอนไม่หลับ ความบกพร่องของความจำ ความผิดปกติจากการนึกคิดและอารมณ์ 

4. ปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมต่าง ๆ 

5. ปัญหาความยากจน

6. ปัญหาครอบครัว

และมีข้อมูลที่น่าสนใจจากการศึกษาผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่ม จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา, 2558 ได้ยกตัวอย่างผลกระทบต่อครอบครัวซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เช่น

  • เยาวชนที่มีพ่อติดสุรา (Alcohol dependence) มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางสุขภาพจิตมากขึ้นถึง 11.5 เท่า เมื่อเทียบกับเยาวชนที่มีพ่อไม่ติดสุรา  
  • ผู้ที่มีภาวะติดสุรามากกว่าครึ่งมีปัญหาการใช้ชีวิตสมรสและปัญหาในการประกอบอาชีพ
  • ครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่ในภาวะติดสุราจะมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึง 3.84 เท่า
  • แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดการกระทำรุนแรงในคู่สามีภรรยา ทั้งทางร่างกาย จิตใจและเพศ คือ ภรรยาที่มีสามีดื่มแอลกอฮอล์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรง 4.27 เท่า และหากทั้งภรรยาและสามีดื่มแอลกอฮอล์โอกาสเสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.55 เท่า

จะเห็นว่าผลกระทบมีในทุกด้านทั้งการเงิน การงาน ครอบครัว สังคม สุขภาพ (เรื้อรัง) ที่รุนแรงและ          มีผลกระทบในวงกว้างคือทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และผลกระทบต่อตนเองที่รุนแรงคือ ปัญหาโรคเรื้อรังทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มสุราตั้งแต่อายุยังน้อย (ที่มีเพิ่มมากขึ้น) จะมีผลกระทบต่อสมอง กระบวนการคิด ความจำ และการตัดสินใจบกพร่อง

ปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุรา

การดื่มสุราในวัยรุ่นมีเพิ่มมากขึ้นและการดื่มสุราในผู้หญิงได้รับการยอมรับมากขึ้น สอดคล้องกับสถิติการเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุราของโรงพยาบาลสวนปรุง (ข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ปี 56,57และ 58)    มีจำนวน 4,784 ราย , 4,307 ราย และ 4,268 ราย เป็นเพศชาย 4,442 ราย , 4,018 ราย และ 3,944 ราย เพศหญิง 432 ราย , 289 ราย และ 324 ราย (ตามลำดับ) เป็นสัดส่วน 7.7 เท่า , 7.2 เท่า และ 8.2 เท่าของเพศชาย         ช่วงอายุที่พบมากที่สุด คือ 35-44 ปี (กลุ่มวัยทำงาน) และช่วงอายุน้อยที่สุดคือ 15-19 ปี (เยาวชน) โดยพบว่าเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุราเพิ่มขึ้นทุกปี  โดยในปี 56 = 4 ราย , ปี 57 = 6  ราย และปี 58 = 9 ราย  ทั้งนี้จากที่ได้กล่าวถึงผลกระทบข้างต้น ยิ่งผู้ดื่มสุราอายุน้อยเท่าไหร่จะส่งผลกระทบต่อสมอง กระบวนการคิด ความจำ การตัดสินใจบกพร่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งจะเป็นปัญหาเรื้อรัง ขาดความต่อเนื่องในการศึกษา ปัญหาการมีงานทำ และการดูแลของครอบครัว

อนึ่งในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งนับถือพุทธศาสนา ให้ความสำคัญว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นมงคลในการทำความดีด้วยการรักษาศีลและงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา  โรงพยาบาลสวนปรุงและภาคีเครือข่ายจึงร่วมมือกันจัดโครงการรณรงค์ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุรา “ชีวิตล้ำเลิศ…ถ้าเลิกสุรา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนให้ประชาชน , ผู้ที่ดื่มประจำ , นักดื่มหน้าใหม่ตระหนักถึงผลเสียของการดื่มสุรา เผยแพร่ความรู้แนวทางการเลิกสุราให้สำเร็จ สนับสนุน และให้กำลังใจในผู้ที่ติดสุราให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะเลิกสุราอย่างจริงจังและเข้าถึงการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง โดยในปี ๒๕๕๙ นี้ โรงพยาบาลสวนปรุงจะได้จัดโครงการรณรงค์ฯ ดังกล่าว โดยมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการลดละเลิกสุราโดยต้นแบบชุมชน ,องค์กร และเครือข่ายลด ละ เลิกสุราในเขตสุขภาพที่ 1 และ 2  โดยในงานมีการอภิปรายหัวข้อ “แนวทางการลดละเลิกสุราโดยต้นแบบชุมชน”  “ทำอย่างไรให้ใจเลิกสุรา”  “การจัดการเลิกสุราภาษาวัยรุ่น” และการจัดนิทรรศการชุมชนต้นแบบลดละเลิกสุรา ในเดือนกรกฎาคม 2559 นี้

          ทั้งนี้โรงพยาบาลสวนปรุงได้จัดทำองค์ความรู้ในการรณรงค์ ลด ละ เลิกสุราได้สำเร็จและเลิกได้ตลอดไป ดังนี้

7 วิธีสังเกตอย่างไรว่าใครติดสุรา

10 วิธีคิดพิชิตการเลิกสุรา

9 วิธีชวนคนรักให้เลิกสุรา  

6  แนวคิดของผู้หยุดดื่มสุราได้สำเร็จ

7  เทคนิคดี ๆ ลดการดื่มสุรา ถ้ายังเลิกไม่ได้

7 วิธีสังเกตอย่างไรว่าใครติดสุรา

นายแพทย์ปริทรรศ  ศิลปกิจ

นายแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลสวนปรุง

 

ผู้ที่มีแนวโน้มจะติดสุรา ที่คาดว่าในที่สุดจะต้องส่งมารักษานั้นยังมีอยู่มาก ควรร่วมกันตั้งข้อสังเกตดูว่า

ผู้ที่ดื่มสุราที่อยู่ใกล้ชิดท่าน เริ่มติดสุราหรือยัง โดยดูว่ามีอาการ 3 ใน 7 อย่างดังต่อไปนี้หรือไม่                                            1.  ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นจึงจะได้ฤทธิ์เท่าเดิม

2.  มีอาการทางร่างกายเมื่อไม่ได้ดื่ม

3.  ควบคุมการดื่มไม่ได้ 

4.  มีความต้องการอยู่เสมอที่จะเลิกดื่มหรือพยายามหลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ

5.  หมกมุ่นกับการดื่มหรือการหาสุรามาดื่ม

6.  มีความบกพร่องในหน้าที่การงานหรือการพักผ่อนหย่อนใจ

7.  ยังคงดื่มอยู่ทั้ง ๆ ที่มีผลเสียเกิดขึ้นแล้ว

          ถ้าพบอาการ 3 ใน 7 อย่างแน่นอนแล้ว อย่านิ่งนอนใจ ขอคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

 

10 วิธีคิดพิชิตการเลิกสุรา

วุฒิพงศ์  ถายะพิงค์

ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลสวนปรุง

 

ปัญหาสุขภาพจิตจากสารเสพติดและปัญหาสุขภาพจิตจากการเสพสุรา เป็นคำใหม่ที่เพิ่งได้ยินกันมาประมาณ 15 ปี เท่านั้นเอง ในอดีตโรงพยาบาลจิตเวชมักไม่ค่อยพบผู้ที่มารักษาปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุจากการติดสุรา แต่ปัจจุบันนั้นมีมากขึ้น จนโรงพยาบาลจิตเวชต้องมีตึกเฉพาะสำหรับผู้ป่วยเหล่านั้น

          นอกจากปรากฏการณ์ในโรงพยาบาลจิตเวชที่มีผู้ป่วยสุขภาพจิตจากการเสพสุรามากขึ้นแล้ว              ยังมีปรากฏการณ์ทางสังคมมากมายที่มีสาเหตุมาจากการเสพสุรา เช่น ความรุนแรงในครอบครัว อาชญากรรม การฆ่าตัวตาย เป็นต้น นอกจากนั้นสถิติผู้ที่ดื่มสุรายังใช้ปรากฏเฉพาะในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังแพร่ระบาดไปยังในวัยรุ่นและเด็กอีกด้วย

          มาถึงวันนี้เชื่อว่าสังคมรู้กันอยู่แล้วว่าผลเสียของการดื่มสุรานั้นมีมากมายและมีผู้ที่ดื่มสุราอยู่แล้วอยากจะเลิกดื่มให้ได้ และมีผู้ที่ดื่มสุราอยู่แล้วอยากจะเลิกดื่มให้ได้ มักจะเข้ามาขอรับการปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ให้คำแนะนำ 10 วิธีคิดเพื่อพิชิตการเลิกสุรา ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมมาจากตำราต่าง ๆ และประสบการณ์ของทีมงานการให้การช่วยเหลือและปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการจะเลิกสุราและทำได้สำเร็จ ดังนี้

1. ตั้งใจและตั้งเป้าหมาย  ความตั้งใจที่แน่วแน่ที่จะเลิกดื่มสุราให้ได้  พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในการเลิก

ลดทอนลงเป็นระยะ ๆ กระทั่งตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกเพื่อใคร เช่น เพื่อแม่ เพื่อลูก ฯลฯ พลังแห่งความตั้งใจและตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกเพื่อใครจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เลิกได้สำเร็จ

2. แสวงหาแรงบันดาลใจ การแสวงหาแรงบันดาลใจจะต่อเนื่องมาจากข้อ 1 นั่นคือใครหรืออะไร      เป็นแรงบันดาลใจให้เลิก รวมทั้งแสวงหาประสบการณ์จากผู้ที่เลิกสุราสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางที่จะใช้ปฏิบัติตาม

3. แสวงหาแหล่งสนับสนุน การแสวงหาแหล่งสนับสนุน เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจนั้น  อาจเป็นบุคคลในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง หรือชมรมสมาคมต่าง ๆ ที่ร่วมกันลดละเลิกสุรา จะเป็นกำลังใจให้กันและกันได้อย่างต่อเนื่อง

4. หลีกเลี่ยงแหล่งกระตุ้นและฝึกทักษะปฏิเสธ  ผู้ที่ตั้งใจจะเลิกสุราควรหลีกเลี่ยงแหล่งที่จะกระตุ้นให้มีการดื่ม เช่น งานเลี้ยง กลุ่มเพื่อนฝูงที่ชอบดื่มสุรา และหากถูกชักชวนให้ดื่มก็ให้ตั้งสติคิดถึงเป้าหมายในการเลิกแล้วปฏิเสธ ด้วยหลักการ 3 ข้อ คือ 1.) ปฏิเสธ  2.) บอกเหตุผล 3.) ให้เดินออกจากสถานการณ์นั้นเลย

5. ทำกิจกรรม  การทำกิจกรรมในที่นี้หมายความถึง ทั้งการทำงานประจำตามหน้าที่ งานจิตอาสา          งานร่วมกับสมาคม สโมสรต่าง ๆ กิจกรรมนันทนาการที่แต่ละคนชื่นชอบ เช่น ดนตรี กีฬา เป็นต้น  อนึ่งการทำกิจกรรมต่าง ๆ  นอกจากจะช่วยส่งเสริมด้านร่างกายและจิตใจ มิให้ฟุ้งซ่านแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตนเองอีกด้วย

6. แสวงหาคุณค่าของตนเอง การแสวงหาคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเองนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดพลังใจจากภายในตัวเองจะส่งผลให้เกิดความมุ่งมั่นฝันฝ่าจนเลิกสุราได้ในที่สุด  อนึ่งการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในข้อ 5 ที่อธิบายผ่านมา เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจได้

7. ออกกำลังกาย  การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอตามที่ตนเองถนัดวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง  จะช่วยให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง  เป็นการสร้างภูมิต้านทานทางร่างกายให้เข้มแข็งมีพลังที่จะลด ละ เลิกสุราได้ในที่สุด

8.  รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์  การได้รับประทานอาหารครบห้าหมู่ โดยเฉพาะวิตามินต่าง ๆ นั้นจะช่วยส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรง  เพราะผู้ที่ติดสุรามักจะขาดวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย  จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอ  ไร้กำลังที่จะต่อสู้กับการเลิกสุรา  ดังนั้นการรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่และเพียงพอจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง

9.  อารมณ์ดีและพักผ่อน  การได้พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ  อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง  นอกจากจะช่วยเสริมด้านกำลังกายซึ่งสืบเนื่องมากับการออกกำลังกายและรับประทานอาหารครบห้าหมู่แล้ว การพักผ่อนนอนหลับยังช่วยให้อารมณ์ดี ไม่หงุดหงิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนั้นควรหาเวลาศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนในศาสนาที่แต่ละคนนับถือ เช่น ชาวพุทธอาจเข้าวัดและวิปัสสนากรรมฐาน เป็นต้น จะช่วยให้อารมณ์ดียิ่งขึ้น

10. พบแพทย์  การพบแพทย์และทีมงานด้านสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ติดสุราและพยายามเลิกสุราด้วยตัวเอง แต่ทำไม่สำเร็จจึงควรมาพบแพทย์ เพราะวงการแพทย์มีวิธีการรักษาและมียาชดเชยความอยากดื่มและวิธีอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี  และขอย้ำว่าขั้นตอนที่ 1 ถึง 9 นั้น เหมาะสมสำหรับผู้ที่ดื่มสุรา         ไม่มากนักแต่อยากจะเลิกดื่มซึ่งจะได้ผลดียิ่ง  แต่สำหรับผู้ที่ติดสุรามากแล้วจนถึงขั้นลงแดง ห้ามหักดิบหรือเลิก ด้วยตัวเองเด็ดขาด เพราะอาจอันตรายถึงชีวิต ควรมาพบแพทย์เพื่อจะได้วางแผนรักษาร่วมกัน อย่างเหมาะสมกับแต่ละราย

          10 วิธีคิดเพื่อพิชิตการเลิกเหล้าดังกล่าว  มีผู้ปฏิบัติได้ผลมามากแล้ว และควรทำตามหลักการทั้ง 10 ข้อไปพร้อม ๆ กันอย่างสม่ำเสมอจนกว่าจะเลิกได้สำเร็จ และแม้เลิกดื่มได้สำเร็จแล้วก็ควรปฏิบัติตามหลักการ 10 ข้อดังกล่าวต่อไป  เพื่อเป็นเครื่องมือทางความคิดสู่วิถีปฏิบัติให้เลิกได้อย่างยั่งยืนในที่สุด

 

9 วิธีชวนคนรักให้เลิกสุรา  

วุฒิพงศ์  ถายะพิงค์

ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลสวนปรุง

 

 แนวทางหนึ่งที่จะยับยั้งและช่วยลดปริมาณผู้ดื่มสุราได้คือต้องมีการเชิญชวนบุคคลที่ดื่มสุราให้เลิกดื่ม และพบว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ได้ผลก็คือ การชวนคนรักให้เลิกสุรา โดยมีวิธีการเชิญชวนที่ได้ผล  9 วิธี ดังนี้

1.  ชวนในขณะที่ผู้ดื่มสุรามีอารมณ์สงบ การจะเชิญชวนให้หันมาประพฤติด้านดีในเรื่องใดๆ นั้น     ควรชวนในจังหวะที่เขามีอารมณ์สงบ โดยเฉพาะชวนตอนที่เขาไม่ดื่มสุราหรือตอนที่เมาสุราน้อยที่สุด ตอนที่มีสติสงบที่สุด เพราะการสื่อสารชักชวนในภาวะที่สงบ จะช่วยให้เขาพร้อมที่จะรับฟังด้วยความมีสตินั่นเอง

2.  ชวนด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่สุภาพและเป็นมิตร การชวนคนที่เรารักมาเลิกเหล้าด้วยน้ำเสียงและ ท่าทีที่เป็นมิตรนั้นจะส่งผลต่อการตอบรับที่ดี เพราะน้ำเสียงและท่าทีที่สุภาพและเป็นมิตร จะทำให้เขารู้สึกว่าได้รับการยอมรับและให้เกียรติจากเรานั่นเอง กล่าวคือ ชวนด้วยน้ำเสียงกลาง พูดมีหางเสียง ไม่ข่มขู่ ไม่ตะคอกหรือเหน็บแนม เย้ยหยัน พร้อมทั้งมีกิริยาท่าทีที่สุภาพตามมารยาททางสังคม

3.  ชวนด้วยการสื่อสารที่แสดงความห่วงใยและปรารถนาดี  การชวนด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีนั้น คือการสื่อสารเพื่อให้เขารับรู้ว่า  เราห่วงใยต่อคุณภาพชีวิตและสังคมของเขาและปรารถนาให้เขาพ้นจากวังวนของการติดสุรา เช่น อาจจับมือเขาด้วยความสุภาพพร้อมกับสบตา ด้วยแววตาที่เป็นมิตรแล้วพูดว่า “ผมเป็นห่วงคุณมากๆ อยากให้คุณมีสุขภาพสมบูรณ์และไปเล่นกีฬาด้วยกันเหมือนในอดีตและไม่อยากให้ใครๆ มองคุณด้วยสายตาที่หยามหมิ่นครับ”

4.  ชวนสนทนาถึงผลเสียของการดื่มสุรา การชวนผู้ที่ดื่มสุราสนทนาเกี่ยวกับผลเสียของการดื่มสุราทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมนั้นจะช่วยให้เขาตระหนักรู้เกี่ยวกับตนมากขึ้น  ยิ่งถ้าชวนให้เขาเปรียบเทียบถึงบุคลิกร่างกายทั้งก่อนดื่มสุราและหลังดื่มสุรายิ่งช่วยให้เขาพบผลเสียที่ชัดเจนของการดื่มสุรายิ่งขึ้น  จะช่วยทำให้เขากลัวผลกระทบและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น

5.  ชวนให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเลิกดื่มสุรา  การชวนให้เขาเกิดแรงบันดาลใจเพื่อจะเลิกดื่มนั้น      เป็นวิธีการที่ได้ผลมากและยั่งยืนเพราะแรงบันดาลใจทำให้เกิดความมุ่งมั่นจริงจังและจริงใจที่จะกระทำ แรงบันดาลใจเป็นพลังความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญแนบแน่นต่อเขา เช่น เลิกเพื่อพ่อแม่ เลิกเพื่อลูก เลิกเพื่อถวายแด่สิ่งที่เขาเคารพนับถือ เป็นต้น

6.  ชวนให้เลิกในโอกาสพิเศษ  การชวนให้เลิกในโอกาสพิเศษนั้นมีความหมายถึงการเริ่มต้นและตั้งเป้าหมายที่จะเลิก  การตั้งเป้าหมายเป็นหัวใจสำคัญของการเริ่มต้น ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของแทบทุกเรื่อง เช่น เลิกในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของตนเอง หรือเลิกเหล้าเข้าพรรษา เป็นต้น

7.  ชวนไปพบแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข การชวนไปพบแพทย์  เป็นการไปพบผู้เชี่ยวชาญที่จะบำบัดรักษาและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และน่าเชื่อถือในทางวิชาการและร่วมกันวางแผนเพื่อเลิกสุราอย่างเป็นระบบ  มีขั้นตอนที่เหมาะสมและลดอันตรายต่าง ๆ ได้  ยิ่งหากเป็นผู้ที่ติดสุรามาก ๆ แล้ว ไม่ควรเลิกด้วยตนเองทันที เพราะการหักดิบอาจทำให้หมดสติ (ช็อก) และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

8.  ชวนด้วยความพยายาม ผู้ที่ติดสุราบางคนอาจต้องชวนบ่อยๆ เขาจึงจะเลิกดื่มสุรา หรือเลิกดื่มได้ช่วงระยะหนึ่งแล้วก็หันกลับไปดื่มเช่นเดิม ก็ให้เริ่มชวนครั้งต่อไปให้มาเลิกสุราอีก เรียกว่า “ชวนแล้วชวนอีก”      ชวนด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดและอย่าย่อท้อ จนกว่าเขาจะเลิกได้อย่างถาวร

9.  ชวนให้เลิกได้สำเร็จแล้วต้องชื่นชม การชื่นชมผู้ที่มีความพยายามจะเลิกสุรานั้น เป็นการสื่อสารเพื่อให้กำลังใจแก่เขา แม้เขาอาจเลิกดื่มได้ระยะหนึ่งก็ให้ชื่นชมที่พยายามเลิกได้ระยะหนึ่ง แล้วพยายามชวนต่อไป อย่าตำหนิติเตียนหรือเย้ยหยันว่าเลิกได้ช่วงระยะเวลาเดียวเท่านั้น เมื่อเขาเริ่มที่จะเลิกดื่มอีกก็ชื่นชมอีกและ     ควรค้นหาคุณงามความดีด้านอื่นๆ ของเขาเพื่อนำมาชื่นชม การชื่นชมจะช่วยทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่ายิ่งขึ้น เป็นปฏิบัติการสื่อสารทางจิตวิทยาที่จะช่วยจูงใจและปรับพฤติกรรมเขาได้ดียิ่งขึ้น

                   เก้าข้อ เก้า ช. เพื่อเชิญชวนคนรักมาเลิกเหล้าตามที่นำเสนอมานั้น จะต้องทำไปพร้อมๆ กันหรือทำให้สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ โดยเรียงลำดับตั้งแต่ข้อ 1 ไปจนถึงข้อ 9 โดยเฉพาะ 3 ข้อแรกนั้นคือ การชวนในขณะที่เขาอารมณ์สงบ  ชวนด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่สุภาพเป็นมิตร และชวนด้วยการสื่อสารที่แสดงความห่วงใยและปรารถนาดีนั้น  เป็นหลักการพื้นฐานที่จะช่วยให้การชวนตามหลักการ ข้อ 4  ถึงข้อ 9 ได้ผลยิ่งขึ้น  อนึ่งการชวนคนรักมาเลิกเหล้าทั้ง 9 ข้อดังกล่าว  เป็นทั้งหลักการแสดงออกถึงความรักที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนเป็นเครื่องมือเพื่อใช้สำหรับชวนคนรักมาเลิกเหล้าที่ได้ผลดียิ่ง แล้ววันนี้คุณได้ชวนคนที่คุณรักมาเลิกเหล้าแล้วหรือยัง!

 

6  แนวคิดของผู้หยุดดื่มสุราได้สำเร็จ

วงเดือน  สุนันตา

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสวนปรุง

กลุ่มผู้ติดสุรานิรนาม AA โรงพยาบาลสวนปรุง

 

  1. มีการยอมรับปัญหาการติดสุราของตนเอง  โดยยอมรับว่าดื่มต่อไปไม่ได้อีกแล้ว  ไม่มีแก้วแรก

สำหรับตนเอง  ไม่สามารถควบคุมการดื่มของตนเองได้อีกแล้วแม้แต่นิดเดียว ช่วงที่ดื่มอยู่ชีวิตมันตกต่ำ มันแย่สุดๆ

  1. มีแรงบันดาลใจ เป้าหมายในการหยุดดื่ม เช่น  ร่างกายผมไม่ไหวอีกแล้ว  ดื่มต่อไปอีกงานพังแน่ๆ

สงสารลูก ห่วงความรู้สึกของลูก  เป็นของขวัญให้ลูก เป็นต้น

  1. มีการปรับแผนการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง  โดยค้นหาจุดล่อแหลมต่อการกลับไปดื่ม

แล้วดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความระมัดระวังมากขึ้น

  1. มีการให้กำลังใจตนเอง  โดยไม่ต้องรอคนอื่น  การให้กำลังใจตนเองทำได้ง่าย ๆ เช่น การบันทึก

ตารางดาวในปฏิทินเป็นรายวันสะสมไปเรื่อยๆ

  1. มีแหล่งประคับประคอง ดูแลช่วยเหลือเมื่อประสบเหตุไม่ลงตัวในการดำเนินชีวิต หรือ

ความเครียด   เช่น  วัด   บุคลากรสาธารณสุข  เพื่อนที่ไว้วางใจ   เป็นต้น

  1. มีวิธีจัดการหรือเผชิญปัญหาและความเครียดอย่างสร้างสรรค์ในทางบวก และปลอดภัยจากสุรา

ยาเสพติดอื่นๆ

มีหลายคนที่ปรับแนวทางการดำเนินชีวิตใหม่แล้วประสบความสำเร็จในการเลิกดื่มสุรา ในขณะที่บางคนเกิดการพลาดพลั้งกลับไปดื่มอีก  นั่นคือสิ่งที่ควรระมัดระวัง  หากท่านพลั้งเผลอกลับไปดื่มอีก  ให้รีบถอนตัวแล้วตั้งหลักให้ได้  ท่านอาจตั้งหลักด้วยตัวท่านเอง หรือขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นที่ท่านไว้วางใจซึ่งอาจเป็นบุคคลที่เลิกดื่มแล้วหรือบุคลากรสาธารณสุข  ทั้งนี้ ท่านอาจรู้สึกผิด  อาย  โกรธตัวเอง  น้อยใจ  เบื่อ ท้อ ซึ่งก็เป็นปกติที่ท่านจะรู้สึกแบบนั้นได้  แต่ให้รับรู้ความรู้สึกของตนเอง รีบตั้งหลัก แล้วเดินต่อไปให้ได้

7  เทคนิคดี ๆ ลดการดื่มสุรา  ถ้ายังเลิกไม่ได้

  1. ตั้งจุดมุ่งหมายถึงปริมาณและจำนวนวันที่ตั้งใจจะดื่ม
  2. ตั้งจังหวะการดื่มในแต่ละครั้ง เช่น จิบอย่างช้าๆ ดื่มน้อยกว่า 1 แก้วต่อชั่วโมง หรือสลับเปลี่ยนด้วย

เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำเปล่า น้ำอัดลม หรือ น้ำผลไม้
3.  รับประทานอาหารร่วมด้วยขณะดื่ม จะทำให้สุราถูกดูดซึมได้ช้าลง
4.  หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น ถ้าเห็นคนบางคน หรือ สถานที่บางอย่าง แล้วทำให้รู้สึกอยากดื่ม ก็ควรที่จะ

หลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้น ๆ ถ้ากิจกรรมบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น ก็ควรที่จะวางแผนว่าจะทำอะไรแทนกิจกรรมนั้น    

แต่ถ้าการอยู่ที่บ้านเป็นตัวกระตุ้น ก็ควรที่จะไม่มีสุราเก็บไว้ในบ้าน
5. วางแผนที่จะจัดการกับความรู้สึกอยากดื่มเมื่อมันเกิดขึ้น เช่น เตือนตนเองถึงเหตุผลที่ต้องการเลิก

พูดคุยกับคนที่รู้สึกไว้วางใจ หรือหันไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่กระตุ้นให้ดื่ม หรือบางทีก็ปล่อยให้ความรู้สึกอยากดื่มนี้มี

ต่อไป โดยยอมรับถึงความรู้สึกนี้ และรู้ว่าอีกไม่นานมันก็จะหายไป

6. รู้จักที่จะปฏิเสธ เนื่องจากจะมีบ่อยครั้งที่คนอื่นจะชักชวนให้ดื่ม โดยทำอย่างสุภาพ และจริงจัง

ยิ่งปฏิเสธได้เร็วเท่าใด ยิ่งทำให้มีโอกาสน้อยที่จะกลับไปดื่มอีก ดังนั้นไม่ควรลังเลที่จะปฏิเสธอย่างทันทีทันใด

เมื่อมีผู้ชักชวนให้ดื่ม

7. การมีกลุ่มที่ช่วยเหลือสนับสนุนกันในการเลิกการดื่ม จะสามารถช่วยให้มีกำลังใจ ได้เห็นตัวอย่างของ

ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเลิกดื่ม และให้ประสบการณ์หรือวิธีการของแต่ละคนในการเลิกการดื่มได้ด้วย

ข้อมูลโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจากสุรา

เรียบเรียงโดย งานประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลสวนปรุง  

โทร. 0 5390 8500

Skip to content