กรมสุขภาพจิต แนะสถานศึกษาและสถานที่ทำงานช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง และลดการใช้ COVID-19 เป็นเรื่องกลั่นแกล้งหรือกีดกัน

กรมสุขภาพจิต แนะโรงเรียนและสถานที่ทำงานช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง และลดการใช้ COVID-19 เป็นเรื่องกลั่นแกล้งหรือกีดกัน
          วันนี้ (4 มีนาคม 2563) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวว่า คนไทยส่วนมากใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมงต่อวันในการอยู่ที่สถานที่ทำงาน และเด็กไทยใช้เวลาประมาณ 6-10 ชั่วโมงในการเรียนหนังสือ อยู่ที่สถานศึกษาต่างๆ ดังนั้น เราทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง ในสถานศึกษาและสถานที่ทำงานซึ่งมักเป็นสถานที่ปิดและมีคนอยู่เป็นจำนวนมาก
           บุคลากรในสถานศึกษาและสถานที่ทำงานต่างๆ ควรถือว่าปัญหา COVID-19 เป็นวาระสำคัญของทุกคนในองค์กร แม้มีหน้าที่หลักแตกต่างกันออกไปแต่ทุกคนล้วนมีความสำคัญและบทบาทในการควบคุมปัญหา COVID-19 ไม่แตกต่างกัน การรณรงค์สามารถเริ่มได้จากการพูดคุยสนทนากันในวงเล็กๆ พูดคุยทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในสถานการณ์ล่าสุด ให้เพื่อนได้ระบายความรู้สึกต่างๆที่อยู่ในใจ เช่น ความกลัว ความวิตกกังวล ความเศร้า ตรวจสอบความเข้าใจว่าได้รับผลกระทบจากข่าวลือหรือข่าวปลอมหรือไม่ และหาข้อมูลเพิ่มเติมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุป
           ครูอาจารย์ในสถานศึกษาอาจใช้เวลาส่วนหนึ่งของชั่วโมงสอน เพิ่มเติมความรู้ด้านการดูแลตัวเองของนักเรียนนิสิตนักศึกษา เช่น การกินของร้อน ใช้ช้อนกลาง ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี หมั่นล้างมือให้สะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางรัฐหรือแหล่งที่เชื่อถือได้ ถ้าเจ็บป่วยโรคทางเดินหายใจ ให้ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ปกปิดข้อมูลต้องแจ้งทางการหรือปฏิบัติตามข้อแนะนำเมื่อมีความเสี่ยงต่างๆ ให้คำชื่นชมเมื่อนักเรียนมีการทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องนี้ด้วยตนเอง หรือช่วยเหลือคนรอบข้างให้มีความเสี่ยงน้อยลง สำหรับในสถานที่ทำงาน หัวหน้างานหรือผู้บริหารหน่วยงานบริษัทห้างร้านต่างๆ ควรดูแลบุคลากรของตนเองอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงดูแลผู้มาใช้บริการเช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัทหรือหน่วยงานและลดความกังวลใจของผู้มาใช้บริการ
           นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพบว่า มีคนส่วนหนึ่งที่ยังขาดความเข้าใจในเรื่อง COVID-19 และไม่ติดตามข่าวสารที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความกลัวและวิตกกังวลจนใช้ COVID-19 เป็นเรื่องกลั่นแกล้งหรือกีดกันซึ่งกันและกัน ครูอาจารย์ในสถานศึกษาควรตระหนักถึงปัญหานี้และดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกันโดยใช้ความเข้าใจ COVID-19 ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งคนที่ถูกกลั่นแกล้งหรือกีดกันจากสังคมที่ไม่เข้าใจปัญหานี้ อาจเกิดความเครียด วิตกกังวล กลัว หรือไม่อยากไปเรียนหรือไปทำงานได้ ทั้งนี้บุคลากร ในสถานศึกษาและสถานที่ทำงานต่างๆ ควรเน้นเรื่องการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และใช้การส่งต่อ ความเข้าใจ ความรักและความห่วงใยในการผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

Skip to content