วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 กันยายน 2562

วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 กันยายน 2562

ในทุกๆวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลกและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทั่วโลกได้กำหนดให้มีการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักให้ทั่วโลกให้ความสนใจกับการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย

ปัญหาฆ่าตัวตายจัดเป็นความรุนแรงทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ซึ่งมีหลายสาเหตุมาเกี่ยวข้อง อาทิเช่น ปัญหาทางด้านชีววิทยาสังคม และ เศรษฐกิจ Psycho-sociological and economic factors ที่สามารถป้องกันได้

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มีประชากรกว่า 800.000 เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกปี ซึ่งปัญหาฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่นำผู้คนไปสู่การเสียชีวิตก่อนวันอันควร และในแต่ละครั้งที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ (completed suicide) จะมีความพยายามฆ่าตัวตาย (attempted suicide) มากกว่า 20 ครั้ง

นั่นหมายความว่า ปัญหาฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้ ถ้ามีความตระหนักและเหยื่อผู้รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที

โดยปีนี้ สมาคมเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติ (International association for suicide prevention) ซึ่งถือเป็นองค์กรสาธารณะกุศล ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มวิชาชีพหลากหลาย ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ครอบครัวและเหยื่อผู้พยายามฆ่าตัวตาย รวมไปถึงสื่อสารมวลชน เป็นต้น ได้ร่วมกำหนดให้ปี พ.ศ. 2562 นี้มีคำขวัญในการรณรงค์ว่า “Working Together to Prevent Suicide”

ข้อมูลปัจจุบัน ปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อเร็วๆนี้ว่า เป็นที่น่าเป็นห่วงว่า จากภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศ อยู่ที่ 6.34 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยในปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน แบ่งเป็นชาย 3,327 คน คิดเป็น 80% และเป็นหญิง 810 คน คิดเป็น 20% และพบว่า วัยแรงงาน ช่วงอายุ 25-59 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด 74.7% รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 22.1%และวัยเด็ก อายุ 10-24 ปี 3.2% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังพบจำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ 345 รายต่อเดือน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 ราย

โดยปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิดพบ 48.7% ความรัก หึงหวง 22.9% และต้องการคนใส่ใจ ดูแล 8.36% ส่วนปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด พบว่า มีปัญหาการดื่มสุรา 19.6% มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง 6% และปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต 7.45% โรคซึมเศร้า 6.54% และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ 12%

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังกังวลต่อการนำเสนอข้อมูลจากสื่อมวลชน หลังจากที่ผ่านมาพบข่าวการฆ่าตัวตายค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายแบบรมควัน ที่ได้มีการเผยแพร่ทางสื่อสารมวลชนในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังเสพข่าวที่บรรยายถึงวิธีการโดยละเอียดจากสื่อซ้ำบ่อยๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนมากน้อยตามระยะเวลา ความถี่ และปริมาณข่าวที่ได้รับด้วย

การป้องกัน

สำหรับวิธีป้องกัน ขอให้บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด คอยสังเกตสัญญาณเตือน หากพบว่ามีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง ตามหลัก 3 ส. คือ

1. สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย

2. ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีการที่สำคัญมีประสิทธิภาพมาก

3. ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น การแนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงแอพพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai) แนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุขหรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน

แหล่งข้อมูล

1. https://www.who.int/health-topics/suicide

2. https://www.iasp.info/wspd2019/

3. https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29909

Skip to content