กรมสุขภาพจิต แนะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส พ่อแม่ช่วยลูกสร้างสำนึกต่อสังคมและสังคมสมานฉันท์ตั้งแต่เด็ก

กรมสุขภาพจิต แนะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสของประเทศไทยกับปัญหา COVID-19 โดยผู้ปกครองช่วยกันปลูกฝังสำนึกต่อสังคมและสังคมสมานฉันท์ให้กับลูกหลานที่บ้านตั้งแต่วัยเด็ก ช่วยลดความกลัว ความวิตกกังวล ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในตัวเอง

วันนี้ (3 มีนาคม 2563) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวว่า ตามที่กรมสุขภาพจิตรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึง 2 คำสำคัญ คือ สำนึกต่อสังคม (Social responsiveness) และ สังคมสมานฉันท์ (Social cohesion) เพื่อ ซึ่งจะทำให้วิกฤตการระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยก็จะไม่รุนแรง และเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด โดยการสร้างสำนึกเพื่อสังคมและการสร้างสังคมสมานฉันท์ ควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก

การสร้างสำนึกต่อสังคมในเด็ก สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการที่ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เด็กมีแนวโน้มที่จะทำตามจากการเห็นแบบอย่างที่ดีมากกว่าการสอนหรือแนะนำโดยวาจา พ่อแม่สามารถชักชวนลูกทำกิจกรรมหรือเล่นเกมที่เกี่ยวกับการดูแลตัวเองด้วยกัน เช่น การเล่นแข่งกันล้างมือให้สะอาด การช่วยกันเตรียมอาหารให้ร้อนและใช้ช้อนกลาง การชักชวนกันเล่นกีฬาออกกำลังกาย กิจกรรมประดิษฐ์หน้ากากอนามัยในบ้าน กิจกรรมทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น นอกจากนั้น การมอบหมายหน้าที่บางประการจะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองและเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรคให้เด็กได้ เช่น การมอบหมายหน้าที่ให้ช่วยดูแลการล้างมือของคนในบ้าน มอบหมายหน้าที่ให้หาความรู้เพิ่มเติมไว้สอนคนในบ้านหรือเพื่อนที่โรงเรียน เป็นต้น โดยเมื่อเด็กได้แสดงพฤติกรรมที่สะท้อนความมีสำนึกต่อสังคมแล้ว ผู้ปกครองควรสังเกตและให้คำชื่นชมอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้พฤติกรรมนั้นยังคงอยู่ต่อไปในระยะยาว

การสร้างสังคมสมานฉันท์ในเด็ก ก็สามารถเริ่มต้นด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ปกครองเช่นเดียวกัน โดยผู้ปกครองสามารถเป็นแบบอย่างในการช่วยเหลือคนอื่น ไม่รังเกียจผู้เจ็บป่วยหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ต่อว่าผู้อื่นรุนแรง หยิบยื่นน้ำใจให้กับคนรอบตัว แสดงความห่วงใยต่อผู้ที่อาจมีพฤติกรรมเสี่ยง โดยผู้ปกครองสามารถสังเกตพฤติกรรมนี้ได้เมื่อเด็กเล่นกับเพื่อน หรือสอบถามเพิ่มเติมจากครูประจำชั้นที่โรงเรียน ซึ่งหากพบพฤติกรรมด้านบวกของเด็กต่างๆเหล่านี้ ผู้ปกครองควรให้คำชื่นชมทันทีหรือให้คำชื่นชมต่อหน้าสมาชิกในบ้านคนอื่นๆ

การสร้างทักษะทั้ง 2 อย่างนี้ในเด็กจะทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ลดความกลัว ความวิตกกังวลจากการที่ตนเองไม่สามารถทำอะไรได้ และเกิดการพัฒนาทักษะติดตัวในการรับมือปัญหาวิกฤตต่างๆที่อาจเกิดได้ในอนาคตต่อไป นอกจากนั้นยังเป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพ ความภาคภูมิใจในตัวเอง และความเชื่อมั่นในการตัดสินใจ ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตคาดหวังการรณรงค์การสร้างสำนึกเพื่อสังคมและการสร้างสังคมสมานฉันท์จากคนไทยทุกคน โดยเฉพาะในเด็กรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติในวันข้างหน้า ซึ่งกรมสุขภาพจิตเชื่อว่าทุกครอบครัวจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ด้วยการสร้างสำนึกต่อสังคม และการสร้างสังคมสมานฉันท์

Cookie Consent with Real Cookie Banner Skip to content